BACK TO EXPLORE

PAINKILLER (Menswear) จาก “ความฝันในปารีส” สู่ศิลปะบนเรือนร่างของผู้ชายที่ “เรียบร้อยแต่..ขบถ”

PAINKILLER (Menswear) จาก “ความฝันในปารีส” สู่ศิลปะบนเรือนร่างของผู้ชายที่ “เรียบร้อยแต่..ขบถ”
ดีไซเนอร์ที่ยกระดับงานออกแบบของไทยได้อย่างน่าภูมิใจ

การออกแบบเสื้อผ้าผู้ชายจะดูว่าง่ายก็อาจจะง่าย เพราะมีไม่กี่ชิ้น จะดูว่ายากก็ยากเหลือใจ เพราะในน้อยชิ้นเหล่านั้นมีรายละเอียดซ่อนอยู่มากมาย คำถามคือ..จะทำอย่างไรให้ศิลปะบนร่างกายผู้ชายนั้นโดดเด่นแต่ไม่รุงรัง มีความพอดีแต่มีเอกลักษณ์ เสริมบุคลิกผู้สวมใส่แต่ก็ยังสวมใส่ได้สบาย คล่องแคล่ว สะดวกกับกิจกรรมในชีวิต

แน่นอน คำตอบนั้นอยู่ที่การออกแบบและกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดของวงการนักออกแบบรุ่นใหม่ของเมืองไทยย่อมต้องมีชื่อของ คุณอร สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ ดีไซเนอร์สาวไทยวัย 34 ปี ผู้เป็นทั้งก่อตั้งและรับหน้าที่เป็น Creative & Managing Director ของแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายอย่าง PAINKILLER (Menswear) ไว้ด้วยอย่างแน่นอน



ค้นพบตนเอง เพื่อค้นพบแบรนด์
การค้นพบตัวเองอย่างชัดเจนว่าชอบงานศิลปะตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ทำให้คุณอรตั้งคำถามกับอนาคตของตัวเองว่าจะทำงานศิลปะยังไงให้เป็นงานที่เลี้ยงชีพได้ เมื่อคุยกับตัวเองจนได้คำตอบว่าต้องการเป็น “ดีไซเนอร์” เธอจึงตัดสินใจขอทางบ้านไปศึกษาต่อทางด้านนี้ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยหลังจากทำพอร์ตโฟลิโอและติดต่อหาโรงเรียนอยู่พักหนึ่ง สาวน้อยวัย 17 ปีก็ได้เดินทางไปเข้าเรียนในสถาบัน ESMOD, Paris จนจบการศึกษา Menswear Diploma และที่นั่นการค้นพบตัวเองที่มากขึ้นก็ได้เกิดขึ้น


“ที่โรงเรียนดีไซน์ที่อรเรียน เขาจะมี Meeting อยู่อย่างหนึ่ง คือช่วงปีสอง จะมีการเรียกเด็กทุกคนมารวมกันแล้วเรียกชื่อทีละคน แล้วมีอาจารย์มาให้คำวิจารณ์ทั้งผลงานและความเป็นตัวเรา โดยอาจารย์จะมาบอกว่า เธอน่ะเป็นดีไซเนอร์ระดับไหนได้  คือดีไซเนอร์จะมีหลายแบบ อย่างบางคนเขาก็จะบอกว่า เธอน่ะมีแบรนด์เป็นของตัวเองไม่ได้หรอกเธอต้องไปเป็น Mass ไปเป็นดีไซน์เนอร์คนอื่น หรือบางคนก็แบบ เธอมีคาแรคเตอร์นะ เธอควรทำแบรนด์ของตัวเอง คือมีหลายแบบ มีแม้กระทั่งบอกบางคนตรงๆ ว่าเธอไปทำอย่างอื่นเถอะงานแบบนี้ไม่เหมาะกับเธอหรอก..”  เธอเล่าแล้วยิ้มขำเมื่อนึกถึงอดีต เราถามเธอว่า “แล้วของคุณล่ะ เขาแนะนำว่ายังไง?” เธอตอบเบาๆ ตามบุคลิกเรียบ ถ่อมตัว แต่ดูชัดเจนแบบคนอ่อนนอกแกร่งใน “ของอร เขาบอกว่า อรควรมีแบรนด์ของตัวเอง ทำแบรนด์เองได้”



ที่ PARIS นักเรียนที่ดีที่สุดของโรงเรียน
ที่ Thailand..จ๋อย
แม้จะจบการศึกษาจากปารีส ฝรั่งเศสและมีผลงาน Thesis ที่ได้รับคำชื่นชมและประสบความสำเร็จระดับได้ลงในนิตยสารแฟชั่นชั้นนำของยุโรป แต่การกลับมาทำแบรนด์ของตัวเองที่บ้านเกิดอย่างเมืองไทยนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

“ตอนนั้นพอใกล้เรียนจบ อรได้โอกาสจาก Director ของโรงเรียน คือเขาเลือกเราให้เป็นนักเรียนที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีของโรงเรียน ก็เลยได้เอา Collection นึงไปแสดงงานในแฟร์ในฝรั่งเศส แล้วผลงานมันก็ได้รับการยอมรับค่อนข้างดีมากที่นู่น คือมีความฮือฮา เหมือนแบบยังไม่ทันเรียนจบเลยเราก็ได้ลงนิตยสารที่อิตาลีแล้วอะไรอย่างนี้ แต่..แต่พอกลับมาเมืองไทยคือ “จ๋อย” เลย จ๋อยมาก งานชุดเดียวกันเลย แต่พอมานี่พบเลยว่ามันไม่รอด”

“ตอนนั้นอรได้รับโอกาสจากโครงการของสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรมส่งเสริมการส่งออกให้เอางานมาลองเทรดแฟร์ขายดู แต่ผลคือไม่มีใครเข้าใจเราเลย ไม่มีใครมองว่ามันสวยเลย เคยลองถามลูกค้าลูกค้าก็บอกไม่ซื้อ ไม่มีใครเขาใส่กันหรอกแบบนี้ เราก็เลยต้องกลับมาคิดว่า เออ..เราจะเอาไงดี เราจะเลิกหรือทำต่อ ถ้าเลิกก็ไปเป็นลูกน้องคนอื่นเค้า หรือจะทำต่อ เราถามตัวเองแล้วบอกว่าทำต่อ อยากทำเองก็เลยตัดสินใจไปเรียน Branding เพิ่ม ไปเรียน Marketing ทั้งๆที่เกลียดมาร์เก็ตติ้งมาก แต่เราคิดไงว่าใครล่ะจะมาเข้าใจงานเราเท่าตัวเรา ดังนั้นเราก็ต้องไปเรียนเอง เพื่อมาทำแบรนด์ของเราเอง”


เธอเล่าถึงการตัดสินใจก่อนสรุปจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ PAINKILLER กลายเป็นแบรนด์ชั้นนำให้ฟังสั้นๆ ตามลักษณะของคนชอบถ่อมตนว่า “พอไปเรียนมาร์เก็ตติ้งมาก็เริ่มทำเอง ซักพักก็พอไปได้ เริ่มค่อยๆ ยืนได้ แล้วก็เริ่มส่งออกญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นให้การตอบรับดี ได้มีโอกาสวางขายในห้างชั้นนำที่นั่น จากนั้นคนไทยไปเที่ยวก็เริ่มเห็น แล้วก็รู้จักเรามากขึ้น”



แมว ต้นกล้วย แอปเปิ้ล และผู้ชายแบบ PAINKILLER
เรามักจะรู้จักแบรนด์หนึ่งได้ชัดขึ้นเวลาให้เจ้าของแบรนด์เปรียบเทียบว่า ถ้าให้แบรนด์นั้นเป็นสัตว์ซักตัวมันจะเป็นสัตว์อะไร

“แมวค่ะ” นี่คือคำตอบของเธอ จริงอยู่ ผู้หญิงหลายคนอาจตอบแบบนี้ด้วยเหตุผลว่าแมวนั้นน่ารัก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลของดีไซเนอร์สาวของเรา “อรเห็น PAINKILLER เป็นแมวเพราะมันมีความขัดแย้ง แมวเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงแล้วก็มีความดื้อ อรชอบสิ่งที่มันมีทั้งความเรียบร้อยแต่มันก็มีความขบถ ซึ่งมันก็คือแมว”

และกับคำถามว่าแล้วเธอเองล่ะเป็นตัวอะไร เธอตอบทันทีเหมือนกันว่า “แมวเหมือนกัน แต่อาจจะแมวอ้วนๆ หน่อย (ขำ)” ส่วนคำถามว่าแล้วถ้าเป็นต้นไม้ PAINKILLER กับตัวคุณเองคือต้นไม้อะไร? หนนี้เธอตอบแตกต่างกันว่า “ถ้าตัวเอง..อรว่าตัวเองอยากเป็นต้นกล้วยมากกว่า เพราะต้นกล้วยทำประโยชน์ได้ทุกส่วน อยากมีประโยชน์ได้แบบกล้วย ส่วน PAINKILLER คือแอปเปิ้ลละกัน เพราะมันคือของที่มีประโยชน์ ทานได้ทุกวันแล้วก็ดูสวยด้วย”


เธออธิบายถึงแบรนด์ของเธอ แล้วให้คำนิยามเพิ่มเติมว่าในความตั้งใจของเธอนั้น เสื้อผ้าของPAINKILLER คือ
“เสื้อผ้าที่ผ่านการผลิตที่ประณีต เหมาะกับผู้ชายที่ชอบงานศิลปะ คือผู้ชายแบบ PAINKILLER ก็จะเป็นผู้ชายที่เรียบร้อยแต่ขบถ คือต้องขบถ เพราะคนขบถเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ ดังนั้นเขาเป็นผู้ชายประเภทที่มี Big Idea เพียงแต่จะไม่ใช่คนที่จะต้องแสดงออกแบบโผงผาง เขาจะค่อยๆซึม แล้วจะค่อยๆเปลี่ยนโลกได้ในวิถีทางของเขา”



IMAGE และแนวคิดที่ปรากฏบนเสื้อผ้า PAINKILLER
เสื้อผ้าของ PAINKILLER เป็นเสื้อผ้าที่มีความเรียบง่ายแต่เท่ และมีลูกเล่น มีความคลีน หลายชิ้นมีสีใกล้เคียงกันแต่แตกต่างที่ดีเทลและรายละเอียดที่มีความ “พอดี” เรื่องนี้ดีไซเนอร์ของเราให้ความเห็นถึงแนวคิดของผลงานศิลปะของเธอว่า “จริงๆ แล้วอรไม่ได้มองว่า PAINKILLER เป็นเสื้อผ้าเท่านั้น แต่มันคือแนวคิด คือวันนี้ PAINKILLER คือเสื้อผ้าแต่อนาคตมันอาจเป็นอย่างอื่นอีกก็ได้ที่ยังมีความเป็น PAINKILLER อยู่ คือความรักศิลปะ เรียบร้อยแต่ขบถ อย่างที่บอก เราไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้า แต่เราขายอิมเมจ เราอยากให้ผู้ชายที่เป็นแบบ PAINKILLER นั้นรู้สึกว่านี่คือฉัน ฉันเป็นตัวเองและสบายเวลาสวมใส่มัน คือใช้ในชีวิตประจำวันได้แต่ก็มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน”

เราถามถึงความคิดเวลาออกแบบเสื้อผ้าเพื่อผู้ชาย
“อรใช้เวลาเยอะมากในการออกแบบ โดยเฉพาะกางเกง เพราะกางเกงคือส่วนสำคัญของบุคลิก อรคิดถึงความรู้สึกตอนใส่ ให้เขาใส่ได้สบาย มั่นใจและมีความพอดี ถ้าผู้ชายใส่กางเกงแล้วสวย อย่างอื่นก็จะสวยขึ้นเอง”



เมื่อดีไซเนอร์ให้ความใส่ใจกับลูกค้าผู้ชายของเธอมากขนาดนี้ เราเลยขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแต่งตัวของผู้ชายไทยจากเธอด้วย
“อรเห็นว่าผู้ชายไทยแบ่งเป็นสองกลุ่มนะคือ แบบแรกคือคนที่ on point มากๆ ตามเทรนด์สุดๆ แล้วก็แบบคิดเยอะมากดูหนังสือญี่ปุ่นตลอดเวลาอะไรแบบนี้ คือมันก็มีดีอย่างเสียอย่างนะ คือถ้ามองเผินๆ นะมันก็ดูสวยดี แต่บางทีมันดูเหมือนไม่ได้คิดเอง บางทีตามมากไป ส่วนผู้ชายแบบที่สองคือ แบบไม่คิดอะไรเลย ใส่อะไรก็ได้ แฟนว่าไงก็ว่างั้น.. หรือไม่ก็คือเลือกเสื้อผ้าตามโอกาส แบบว่าชั้นต้องไปทำงานนะดังนั้นก็ต้องเสื้อเชิ้ตแบบนี้เรียบร้อยประมาณนี้แบบนี้เท่านั้น คือแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ได้แบบนี้ ดังนั้นเวลาที่อรคิดเสื้อผ้าอรก็ต้องพยายามคิดเสื้อผ้าแบบ PAINKILLER ให้สองกลุ่มนี้ทำให้เขาได้ใช้งาน ทำ PAINKILLER ให้เขา”



เกาะแก้วพิสดาร Collection ล่าสุด
เกี่ยวกับกระบวนการคิดในการทำงานออกแบบของเธอ คุณอรเล่าว่า “อรชอบอ่าน อ่านเยอะมาก อ่านนี่คืออ่านทุกอย่างไม่ใช่แค่หนังสือ แต่อะไรที่เห็นผ่านตาก็จะอ่านหมด อ่านแล้วก็จดความคิดที่เราสนใจไว้ พอถึงเวลาที่จะออกแบบก็จะเอาสิ่งที่จดมานั่งดูแล้วคิดว่าไอเดียอะไรน่าสนใจ เหมาะกับซีซั่นนั้นไหม ถ้าเหมาะก็จะเริ่มเห็นเรื่องราวและทำออกมาเป็นงาน”

และเมื่อพูดถึง Collection ล่าสุด เธอเล่าว่า “คอลเลคชั่นล่าสุดชื่อ “เกาะแก้วพิสดาร” คือเกิดจากแรงบันดาลใจส่วนตัวที่ทำงานหนักมากจนไม่ได้ไปเที่ยว เราอยากไปเที่ยวเกาะ แต่ถ้าแบบเราจะออกแบบงานชื่อมัลดีฟส์แต่เราไม่ได้ไปนี่เราก็คงออกแบบไม่ได้ ดังนั้นเลยคิดถึงเกาะแก้วพิสดารในเรื่องพระอภัยมณี เพราะมันไม่มีจริงอยู่แล้ว มันไม่มีใครไปได้อยู่แล้ว เป็นเกาะมโน ดังนั้นเราน่าจะทำได้ก็เลยเอาหนังสือมาอ่านอ่านแล้วก็กลั่นออกมา คิดเป็นภาพ เป็นเรื่อง ดู element ในเรื่องแล้วก็คิดว่าถ้าเราจะทำเสื้อผ้าให้คนที่ใช้ชีวิตในเกาะนั้นเราจะทำยังไง คนพวกนั้นเขาน่าจะใส่อะไร แต่พอดีไม่อยากให้มันดูไทยมากไปอรเลยไม่ทำพระอภัยมณี แต่สมมติว่าทำให้พวกฝรั่งที่มาติดเกาะนี้ก็แล้ว ก็คิดว่าถ้าฝรั่งพวกนี้มาติดเกาะแล้วเขาจะทำอะไรนะ ก็คงเที่ยวมั๊ง ทีนี้ PAINKILLER ก็สมมติตัวเองว่าเป็นดีไซเนอร์ประจำเกาะนั้น ดังนั้นเราจะทำเสื้ออะไรให้พวกนี้ดี ก็เลยเกิดเป็นไอเดียว่าทำเสื้อ Souvenir ให้พวกฝรั่งที่มาติดเกาะแก้ว เป็นเหมือนเสื้อฮาวายของเกาะแก้วพิสดาร คือพยายามคิดเป็นสตอรี่แล้วเอาทำเสื้อผ้าให้คนในนั้นได้ใช้งาน”

เธอเล่าถึงคอลเลคชั่นล่าสุดอย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา และเราเองรวมถึงคุณผู้ชายหัวใจศิลปะทั้งหลายก็น่าจะได้สนุกกันในเร็ววันนี้ เพราะคอลเลคชั่น “เกาะแก้วพิสดาร” ที่ว่านี้กำลังเดินทางมายังร้าน PAINKILLER ที่สยามเซ็นเตอร์ของเรา

YOU MAY ALSO LIKE