BACK TO EXPLORE

PATTRIC BOYLE ในก้าวย่างสู่ Buyer ตลาดเอเชีย

PATTRIC BOYLE  ในก้าวย่างสู่ Buyer ตลาดเอเชีย
“ที่เห็นทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวตนของเราเลย”

ในยุคที่ศิลปินหรือนักออกแบบรุ่นใหม่จำนวนมากอาจชอบพูดถึง”ตัวตน” ของเขาเป็นสาระสำคัญมากกว่าผลงาน แต่ ณัฐกรณ์ กรรณ์แก้ว หรือ “บูม” นักออกแบบหลักคนเดียวของแบรนด์ PATTRIC BOYLE ผู้เป็นเจ้าของคำพูดไม่เป็นแบบนั้น มากกว่าคือ เขายืนยันคำพูดของตัวเองอีกด้วยว่าเขาหมายความแบบนั้นจริงๆ ไม่ได้พูดเล่น


ชายหนุ่มท่าทางเรียบร้อยแต่ช่างคิด มองเสื้อผ้ามากมายในร้านของเขาอย่างภูมิใจและเต็มไปด้วยความรัก  แม้ว่าเสื้อผ้าในร้านที่เห็นแทบทุกชิ้นที่เราเห็นจะเป็นเสื้อผ้าที่มีรูปทรงและสีสันค่อนข้างจัดจ้านจนเชื่อได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่อาจเต็มใจดูมากกว่าใส่  แต่เสื้อเหล่านี้กลับสร้างผลลัพท์อย่างตรงข้ามกับชาวต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และชาวตะวันออกกลางจำนวนไม่น้อยที่มาเมืองไทยเมื่อไหร่ก็จะมุ่งมาหาเสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยสีทองของดิ้นปัก ลวดลายแบบบาร็อคและจินตนาการที่ดูลึกลับบนเสื้อผ้าของเขา


“จริงๆ มันเริ่มมาจากคำแนะนำของพี่เจ้าของร้านซึ่งเป็นดีไซเนอร์คนก่อน เขาแนะนำเราว่าให้ออกแบบเสื้อผ้าอะไรก็ได้ที่เราอยากใส่แต่ไม่กล้า โจทย์ที่ว่านี้เลยเป็นที่มาของงานของเราในทุกๆ คอลเลคชั่น จากนั้นก็ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนเจอสไตล์ที่ชัดเจนของเราคือการทำลายพิมพ์ งานปักดิ้นทอง ลวดลายแบบบาร็อค และประวัติศาสตร์”

 

นักออกแบบเสื้อผ้าเล่าต่อถึงการผสมผสานโจทย์และความชอบส่วนตัวของเขา
พอดีเราเป็นคนชอบเรื่องโบราณ ชอบประวัติศาสตร์ ชอบตำนาน ชอบได้ท่องเที่ยวไปในความคิดเหล่านั้นก็เลยเอาเรื่องราวที่เราชอบมาผสมผสานกับเทคนิคต่างๆ และเล่าเรื่องที่เราสนใจผ่านลวดลายของเสื้อผ้า มันเป็นการเล่าเรื่องที่เราชอบออกมา โดยที่เหมือนเดิมนะ..คือเราไม่ใส่ เราทำเสื้อผ้าที่เราอยากใส่ แต่ไม่กล้าใส่ โจทย์เหมือนเดิม”  เจ้าของคำพูดเล่าปนขำ แต่ยิ่งเล่าเราก็ยิ่งเห็นว่าเขาผูกพันกับเสื้อผ้าและงานของเขามากไปกว่าที่ชอบพูดถ่อมตัว

การที่ใครบางคนจะหาตัวจนเจอ อดทนฝึกฝนสร้างฝีมือจนสามารถทำเป็นอาชีพที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  กับดีไซเนอร์ของเราคนนี้ก็เช่นกัน  แม้ทุกวันนี้หน้าร้าน ลูกค้า และผลงานจะทำให้เขาถูกเรียกได้อย่างชัดเจนเป็น “ดีไซเนอร์อาชีพ” แต่เส้นทางและที่มานั้นไม่ได้ง่ายเลย  สิ่งต่างๆ ต้องใช้เวลารอคอย  อดทน  อดกลั้น และอยู่บนเส้นทางที่คิดว่าไม่อาจสมหวังเป็นเวลาหลายปี


“คือชอบเสื้อผ้ามาตลอดครับ  อยากเป็นดีไซเนอร์  พอเรียนจบก็เลยขอคุณแม่ว่าจะเอ็นทรานส์คณะออกแบบแฟชั่น  แม่ก็ให้ลอง แต่เราก็..สอบไม่ได้ เอ็นท์ฯ ไม่ติด  พอเป็นแบบนี้แม่ก็เลยขอให้เรียนในแบบที่แม่แนะนำก็เลยไปเรียนบริหารธุรกิจครับ  ตั้งใจเรียนเพื่อแม่  ได้เกียรตินิยมและก็จบบริหารธุรกิจมา  แต่..แต่อะไรรู้มั้ย คือเรียนดีแค่ไหนแต่หางานไม่ได้เลย ผมหางานอยู่หกเดือน สมัครหลายที่แต่ไม่มีใครรับเลย  เหมือนทัศนคติหรือความคิดของเรามันไม่ไปกับทางของเขาก็เลยไม่ได้งานเลย”

เขาพูดถึงช่วงที่มีปัญหาอย่างสบายๆ อาจเป็นเพราะแม้มันจะเป็นความล้มเหลวในแง่หนึ่ง แต่ในอีกแง่คือความยากลำบากเหล่านั้นคือประตูบายสำคัญที่เปิดให้เขา “พูด” อย่างเป็นตัวเองอีกครั้ง
“ตกงานมาหกเดือน เลยบอกแม่ว่า..มันคงไม่ได้งานง่ายๆ แน่ๆ งั้นของไปลงเรียนออกแบบเสื้อผ้าได้ไหม  จากนั้นก็เลยไปเรียนครับ  ไปเรียน Bangkok Fashion School ก็ได้เรียนในสิ่งที่สนใจ พอจบมาก็ได้ไปฝึกงานที่เกรย์ฮาวน์ ฝึกสามเดือนก็มาทำงานที่ PATTRIC BOYLE เป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ ทำผู้ช่วยหกเดือนพี่เจ้าของก็ไว้ใจให้เราเป็นดีไซเนอร์เองเลย  จากนั้นก็ทำคอลเลคชั่นของ PATTRIC BOYLE มาจนทุกวันนี้”

เมื่อเล่าถึงเส้นทางการทำงานแล้ว เราเลยคุยถึงกระบวนการในการออกแบบชิ้นงานบ้างว่า..แต่ละครั้งเวลาจะออกแบบอะไรออกมาซักอย่างนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในการทำงานของเขา  และสไตล์ชัดเจนเหล่านี้ได้แต่ใดมา
“อย่างที่บอก เราชอบเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องโบราณเรื่องตำนาน ก็จะดูความสนใจของตัวเองเป็นที่ตั้งว่าเรากำลังสนใจอะไร  อย่างคอลเลคชั่นแรกเลยที่ทำให้เกิดสไตล์แบบนี้ก็คือ ตอนนั้นเราสนใจเรื่องอดัมกับอีฟ เลยลองทำลายพิมพ์เรื่องนี้ออกมา มีเรื่องราวสองคน  มีงู มีอะไรต่างๆ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่ลูกค้าก็ตอบรับก็เลยมั่นใจ  ที่จำได้อีกอันที่รู้สึกดีใจคือมีนักร้องเกาหลีคนนึงมาซื้อไปและเอาไปใส่ถ่ายแบบขึ้นปกอัลบั้มด้วย  เราก็ยิ่งภูมิใจ  จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาสไตล์มา”

แล้วกระบวนการทำงานของดีไซเนอร์คนนี้ล่ะ  เสื้อผ้าลายจัดจ้านแบบนี้เขามีวิธีคิดกันอย่างไร
ก็ดูจากแรงบันดาลใจก่อนว่าเราชอบอะไร เรานึกถึงอะไรแล้วมันรู้สึกมากๆ แบบอยากเล่ามันออกมา  อย่างคอลเลคชั่นไม่นานนี้ผมนึกถึงยูนิคอร์น  เพราะปีที่แล้วได้ไปงานแฟชี่นวีคที่ฝรั่งเศสมาแล้วทริปนั้นเราได้ไปเห็นรูปปั้นยูนิคอร์นตัวนึงที่สวยมาก สวยจนกลับมาแล้วยังนึกถึง พอจะทำคอลเลคชั่นก็เลยเอาแรงบันดาลใจนั้นมาทำ ก็เลยศึกษาเรื่องราวของยูนิคอร์น  เรื่องเล่าตำนานการล่ามัน  เอาเลือดมันไปทำอะไร  มีการผจญภัย มีความเชื่ออะไร มีเรื่องอะไรในนั้นก็ศึกษาจนเกิดความคิดและเสก็ตช์เป็นลายพิมพ์ออกมาคร่าวๆ แล้วก็เอาไปคุยกันคนทำกราฟฟิก  เล่าให้เขาฟังว่าเราคิดอะไร  เราเสก็ตช์อะไร  และให้เขาลองพัฒนามา  จากนั้นก็แก้ไปมาจนได้ลายที่เราชอบ  และค่อยเอามาคิดอีกทีว่าจะนำลายที่ว่าไปทำยังไงกับเสื้อผ้าที่เราขึ้นโครงไว้”

นักออกแบบเล่าเรื่องการทำงานของเขาอย่างสนุกสนาน เราเลยถามถึง “ช่วงที่สนุกที่สุด” ในขั้นตอนของการทำงานของเขา ซึ่งจากที่เดาไว้ว่าช่วงที่สนุกที่สุดของดีไซเนอร์คือตอนที่เสื้อผ้าได้ไปอยู่บนตัวแบบบนแคทวอล์ก หรือตอนได้ถ่ายแฟชั่น  แต่..ไม่ใช่เลย..

“ตอนที่สนุกที่สุดของการทำงานคือ ตอนที่ช่างเอาเสื้อตัวอย่างมาส่ง โมเม้นต์ที่เราได้เห็นมันครั้งแรก คือเราจะรู้สึกดีมากๆ เลยที่มันเป็นรูปร่างแล้ว และช่างมักสามารถจะทำให้มันออกมาสวยกว่าที่เราคิดไว้อีกด้วย  ตอนนี้มีความสุขที่สุดแล้ว” เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่เจอมาหลายต่อหลายครั้งในชีวิตที่ทุกครั้งจะยังคงสดและสร้างพลังใจให้เขาได้เสมอ



และเมื่อมีพลัง เขาก็มองไปยังเป้าหมายในอนาคตอย่างชัดเจน “ในอนาคต เร็วๆ นี้ก็อยากให้เกิด Buyer ต่างประเทศมากขึ้น คือเราเห็นแล้วล่ะว่าเสื้อของเราไปยังตลาดไหน คือตลาดประเทศเพื่อนบ้าน คือเวลาเขามาที่ประเทศไทย เขาก็ต้องมาสยามสแควร์ใช่ไหมเพราะที่นี่คือสัญลักษณ์ของแฟชั่นบ้านเรา และพอมาที่นี่เขาก็มาหาเรา  ดังนั้นก้าวต่อไปคือเราอยากไปหาเขามากขึ้น  อยากตอบโจทย์ให้เกิด Buyer ต่างประเทศมากขึ้น เพราะเขาสนุกและกล้าใส่เสื้อเรา” (ยิ้ม)

 

พูดถึงการใส่เสื้อของ PATTRIC BOYLE เราจึงวกกลับมาที่เรื่องราวต้นเรื่องครั้ง..เรื่องของตัวตนคนทำสิ่งเหล่านี้ออกมา
“แล้วตัวตนที่แท้จริงของคุณเป็นยังไง? ถ้าในเมื่อเสื้อผ้าทั้งร้าน และผลงานทั้งหมดนี้มันไม่ใช่คุณเลย?” เราถาม ส่วนเขายิ้มตอบสบายๆ

อ๋อ ตัวจริงก็แบบนี้เลย ผมเป็นคนไม่แต่งตัว ทุกวันจะใส่เสื้อขาว และก็กางเกงสีดำเรียบๆ แบบนี้  ไม่จัดจ้าน ไม่มีดิ้นทอง คือไม่อะไรเลย มาทำงาน ทำเสื้อผ้าและดูแลลูกค้า
นักออกแบบยิ้มสบายๆ เหมือนเคยให้กับเสื้อผ้าของเขาทั้งหมดในร้าน

YOU MAY ALSO LIKE