BACK TO EXPLORE

Leisure Projects สื่อไอเดียผ่านความสบาย เสื้อผู้ชายในยามพักผ่อน

แฟชั่นแบรนด์ที่สื่อสารความเป็นตัวเองผ่านเสื้อผ้า ที่จะพาคุณออกจากกับดักการแต่งตัว

ฤดูร้อนเดินทางมาแล้ว... ถ้าสีสันแห่งฤดูร้อนคือการท่องเที่ยวพักผ่อน  เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ก็น่าจะเป็นลมหายใจของเวลาสบายๆ นั้น

แต่ในโลกของเสื้อผ้าผู้ชาย บางครั้งบางเวลาแพทเทิร์นไม่กี่รูปแบบก็อาจทำให้รู้สึกเบื่อและติดกับดักการแต่งตัวได้ ดังนั้นมันจะน่าสนุกขนาดไหนกันล่ะ.. ถ้าผู้ชายสามารถมีเสื้อผ้าที่ทวิสต์แพทเทิร์นเก่าและตกแต่งลูกเล่นใหม่ๆ ลงไปได้ด้วยสำหรับใส่ในวันหยุด

คำตอบที่ว่านั้น หาได้ในเสื้อผ้าทุกคอลเล็คชั่นของ “Leisure Projects” แบรนด์ที่เลือกนิยามบุคคลิกและความหมายของตัวเองว่า Modern luxury casual wears




“เราไม่ได้เป็นสตรีทแวร์ ไม่ได้เสื้อผ้าทางการ ไม่ได้เป็นแบบอื่น ผมวางตัวตนของ Leisure Projects ไว้ว่าเราคือ Modern luxury casual wears คือเป็นเสื้อสบายๆ ที่สนุกกับการนำเอาแพทเทิร์นของเสื้อผ้าผู้ชายที่มีอยู่ไม่กี่แบบมาทวิสต์ให้มันกลายเป็นความรู้สึกใหม่ อย่างพวกกางเกงสูท เราก็เอาแพทเทิร์นเดิมมาทวิสต์ให้แคชวลขึ้น สนุกขึ้น” คุณนัท – ณัฐพล กนกวลีวงศ์ ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์ของ Leisure Projects ที่ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์ พูดถึงงานสื่อสารด้วยเสื้อผ้าแฟชั่นของเขา






“ไอเดียส่วนใหญ่จะมาจากการเดินทางไปในที่ต่างๆ ครับ  ไอเดียที่มาจากทะเลจะมีเยอะ  การเดินเรือจะมาอยู่ในคอลเล็คชั่นเยอะ เพราะผมเป็นคนชอบเดินทาง  ชอบทะเล  จริงๆ ภูเขาก็ชอบเหมือนกัน ซึ่งเราก็จะนำไอเดียที่ได้จากการท่องเที่ยวนั้นมาใส่ในการออกแบบ  อย่างการใช้เชื่อกไต่เขานี่ก็เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์เราเหมือนกัน  เรานำมาไอเดียพวกนี้มาเล่น” ดีไซเนอร์อธิบายที่มาของความคิดของเขา  ซึ่งจริงๆ แล้วความเป็นคนสนุกที่จะเล่นกับความคิดของเขานั้นไม่ได้มีเฉพาะกับในเรื่องเสื้อผ้า แต่มันมีอยู่แล้วในทุกๆ ความคิด

“คือผมเริ่มมาจากการเรียน Product Design ซึ่งที่ St.Martin ที่เราไปเรียนนี่ เขาก็จะเน้นที่ศิลปะทางความคิด การสื่อสารทางความคิด การแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยดีไซน์  เราจะทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร เราจะทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นผ่านศิลปะได้อย่างไรอะไรพวกนี้..มันคือการแก้ปัญหา”

ดูท่าทางเขากำลังนึกย้อนไปถึงวันวัยที่ศึกษาศิลปะอยู่  “อย่างตอนเรียนโปรดักท์ดีไซน์  ตอนโปรเจ็คต์ก่อนเรียนจบ ผมมีความคิดเรื่องปัญหาเด็กอ้วน น้ำหนักเกิน เบาหวาน ก็เลยออกแบบผลิตภัณฑ์ออกมาโดยใช้นิทานอีสปเป็นไอเดีย  มันมีนิทานที่คางคกชอบทำอะไรเกินตัวจนสุดท้ายก็ตาย  ผมเลยออกแบบโหลหยิบขนมที่เด็กๆ ล้วงมือเข้าไปแล้วจะเอามือออกไม่ได้หากว่าหยิบขนมมากเกินไปอะไรแบบนี้

คือโปรดักท์จะสื่อไอเดีย อย่างงานนี้พอเอามาคิดต่อก็ยังเกี่ยวกับการกินก็เลยออกแบบขวดหมุนพริกไทยหมุนเกลือที่เราเห็นในร้านอาหารน่ะครับ  ปกติไอ้ที่หมุนเกลือนี่เขาจะทำให้หมุนง่ายแล้วเกลือไหลลมา แต่ของเราเราทำให้ยิ่งหมุนเยอะยิ่งหมุนยาก ขายความคิดว่าจะได้ไม่ต้องทานเกลือเยอะ มันก็คือครีเอทีฟ ครีเอทีฟตรงที่เราจะแก้ปัญหาต่างๆ ยังไงให้สนุก แก้ปัญหายังไงให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ดังนั้นพอมาทำเสื้อผ้าก็จะมีความคิดแบบนี้ติดมา แต่เสื้อผ้าเป็นเรื่องความสวยงาม มันเลยจะยากไปอีกแบบ อาจไม่ได้แก้ปัญหาตรงๆ แต่มีความเป็นดีไซน์”



สำหรับวงการเสื้อผ้าแฟชั่น ในวันที่มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และก็มีแบรนด์จำนวนมากหายหน้าไปจากการแข่งขันทุกวันเช่นกันนั้น การที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะยืนหยัดอยู่ในวงการอย่างมีรากมีฐานได้นั้น สิ่งที่แบรนด์มีย่อมไม่ใช่แค่ครีเอทีฟ หรือดีไซน์เพียงอย่างเดียว แต่การเข้าใจลูกค้าและเข้าใจการขายคือหัวใจสำคัญที่แบรนด์ต้องมี  กับเรื่องเหล่านี้ดีไซเนอร์ของเราบอกโดยใช้คำว่า..เขาค่อนข้างโชคดี..





“ผมเป็นคนค่อนข้างชอบโฟกัสเรื่องเซลนะ ผมว่ามันสำคัญนะ คือเราทำเสื้อผ้า เราอยู่ฝั่งครีเอทีฟเนี่ย ฝั่งนี้มันทำอะไรสวยหรูได้ทั้งหมดแหละ แต่การขายเป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึงอย่างมาก ต้องให้ความละเอียดมากในทุกเรื่อง” เจ้าของร้านย้ำ

“กับเรื่องนี้ผมว่า ผมโชคดีที่โตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจเสื้อผ้ามาก่อน คือทางบ้านทำแบรนด์เสื้อผ้าในห้างมาก่อน แล้วเรานี่ก็จะโดนผู้ใหญ่จี้มาตลอดว่า..ทำแบบนี้จะขายได้เหรอ..ราคานี้ขายได้เหรอ..เราจะโดนจี้แบบนี้ค่อนข้างเยอะมาตลอด การมีประสบการร์ด้านนี้ที่ทำให้เราอยู่บนพื้นความจริงว่าเราต้องทำของเพื่อขายนะ เราต้องทำของเพื่อขายให้ได้ในคุณภาพที่ดี และต้องในราคาที่เหมาะสมด้วย”



ถ้าการขายเป็นส่วนสำคัญของ Leisure Projects
แล้วหัวใจสำคัญในการขายของเขาล่ะ? เขาให้ความสำคัญตรงไหน ราคา โปรโมชั่น โฆษณา?...

กับเรื่องนี้ นักออกแบบ ผู้เป็นทั้งเจ้าของธุรกิจ เป็นเซลล์ เป็นพนักงาน และเป็นอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่างของร้านตอบได้โดยไม่ต้องใช้เวลา

“การสื่อสารกับลูกค้าสำคัญที่สุดครับ เนื่องจากเราเป็นทีมเล็กๆ ทีมงานเราไม่เยอะมาก ดังนั้นการทำงานอย่างใกล้ชิดและละเอียดสำคัญที่สุด การสื่อสารกับลูกค้าเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดมาก อย่างในไลน์ผมนี่จะตอบไลน์ลูกค้าเองเป็นส่วนใหญ่ รับฟังความคิดเห็น บางทีเขาติมาโดยนำเคสของแบรนด์ใหญ่ๆ มาเปรียบเทียบ เราก็จะรับฟัง ทำความเข้าใจ ผมไม่มีแก้ตัวเลยนะว่าเราตัวเล็กเรางั้นงี้ ผมจะรับฟัง ขอบคุณและเอามาคิดเสมอ จำได้ทุกอย่างลูกค้าว่าอย่างไร” นั่นเป็นการสื่อสารผ่านสื่อ ส่วนการสื่อสารแบบพบหน้าค่าตา พบกันตัวเป็นๆ ที่ร้านนั้นคือสิ่งที่เจ้าตัวชอบที่สุด




“ผมชอบเวลาที่มาร้าน อย่างเวลามาหน้าร้านก็จะคอยดูคอยสังเกต พูดคุย อธิบาย มันจะมี 2-3 เรื่องที่ผมจะย้ำให้ทีมเซลล์สื่อสารกับลูกค้าอยู่เสมอว่าไม่ใช่การพยายามขาย แต่คือการสื่อให้ลูกค้ารู้ได้ว่า เออ...นะ...ทำไมตัวนี้ถึงต้องราคานี้ ทำไมมันต้องแพง มันทำมาจากอะไร ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป คือเราจะเล่าเรื่องพวกนี้ สื่อเรื่องเบื้องหลังตัวงานให้ลูกค้าฟัง ตรงนี้คือที่บอกว่ามันคือความละเอียดอ่อน”

“แล้วอีกอันก็คือจริงใจ จริงที่สุด อย่างผมเคยทำเสื้อผ้ามาแล้วเสียก็มี ซึ่งเราก็เรียกคืนหมด ขอเก็บคืนหมด คือเราต้องจริงใจมากๆ ต้องจริงใจกับลูกค้า”



เสื้อผ้าสีสบายๆ ในร้าน ลวดลายที่เหมาะกับบรรยากาศวันหยุดหรือวันปกติที่อยากรู้สึกดีๆ นั้นมีรายละเอียดมีการเดินทางมากมายเสมือนว่ามันจะถูกกลั่นกรองผ่านความคิดสร้างสรรค์ ลองผิดลองถูกและเข้าสู่กระบวนการผลิตออกมาจำหน่ายได้ การเดินทางของ Leisure Projects ก็เช่นกัน เวลา 4-5 ปีที่เริ่มเดินทางมาจนถึงวันนี้ เรียกได้ว่าไม่นานเลย หากเทียบกับการเติบโตที่ค่อนข้างเร็วของแบรนด์

กับตรงนี้นักออกแบบของเราบอกว่าสิ่งสำคัญคือการค้นพบตนเองให้เจอให้ได้

“การค้นพบตัวเองสำคัญนะ ยิ่งทำงานยิ่งโตเราก็จะค่อยๆ ค้นพบ  อย่างผมนี่จะชอบใช้เทคนิคพวกลายปักลายทอในคอลเล็คชั่น คือเป็นคนที่ไม่ชอบใช้ลายปริ้นท์ แต่ชอบเทคนิคในการปักหรือประดิษฐ์อื่นๆ มากกว่า สมมติผ้ามาอยู่แล้วก็จะไปเลเซอร์คัทแล้วก็มาปักอีกที คือสร้างเท็กเจอร์ใหม่ให้เสื้อ ลูกค้าของเราก็จะเห็นอะไรแบบนี้ค่อนข้างเยอะ”









แต่การค้นพบความชอบและตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
หลายๆ ครั้งคนทำงานศิลปะต้องต่อสู้ และคนที่ต้องต่อสู้ด้วยนั้นก็ไม่ใช่ใคร
นอกจากตัวเขาเอง
ครีเอทีฟ นักออกแบบเสื้อผ้าคนนี้ก็เช่นกัน

“อย่างเมื่อก่อนผมเองก็เคยพยายามหาจุดว่าลูกค้าของเราคือใคร เขาชอบอะไร มีใครเป็นลูกค้าได้บ้าง คิดเยอะวางแผนเยอะ ตอนนั้นผมเคยดีไฟน์ Leisure Projects ไว้ว่าเราคือ basic casual wear สำหรับทุกคน คือพยายามคิดแบบนั้น แต่สุดท้ายคือมันไม่ใช่แบบนั้น คือเสื้อผ้าของเรามันไม่ได้ง่าย มันมีความเฉพาะตัว ดังนั้นมันเลยไม่ใช่สำหรับทุกคน คือเมื่อก่อนอะไรก็จะทำกล้าๆ กลัวๆ กลัวคนคิดงั้นคิดงี้ กลัวมันออกมาไม่ดี แต่พอกล้าๆ กลัวๆ ยังไงมันก็ไม่ดี”


แล้วค้นพบตนเองตอนไหน
“เรื่องของศิลปะเป็นเรื่องของกระบวนการเติบโตนะ เราเองก็ค่อยๆ เติบโต โตไปพร้อมกับลูกค้า ทีนี้...(คิด)...คอลเล็คชั่นแรกเลยนะที่ผมคิดว่า เออ...ฉันน่าจะเจอตัวเองชัดๆ แล้วล่ะ ก็น่าจะเป็นคอลเล็คชั่นไม่นานนี้ครับ ซีซั่นที่แล้วเราทำเรื่อง LGBT ที่เรารู้สึกสนใจ คอลเล็คชั่นชื่อ Leisure Pride คือเราทำเป็นเหมือนงาน Parade Pride ของ LGBT เลยครับ”



“งานนั้น เริ่มจากผมมีคำถามว่าทำไมผู้ชายผู้หญิงต้องถูกกำหนดว่าต้องใส่กางเกงต้องใส่เสื้อผ้าแพทเทิร์นนั้นห้ามใส่แพทเทิร์นนี้ หรือแบบนั้นแบบนี้ตามเพศ ผมก็เลยทำลองเสื้อผ้าที่มีความเป็น Uni-sex มากๆ ออกมา แล้วผลตอบรับก็ดีมาก เลยทำให้รู้สึกว่าเจอจุดดีของตัวเอง หาซิกเนเจอร์ของตัวเองได้หลายๆ อย่างในคอลเล็คชั่นนั้น อย่างกางเกงที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำได้ดี แต่งานนี้เราก็ทำออกมาได้ ทำแบบไม่กลัว เช่น กางเกงบางตัวของเราจะตัวใหญ่มากแล้วก็เอวสูงมาก โดยวิธีใส่นั้นชึ้นอยู่กับลูกค้าเองว่าจะใส่แล้วใส่เข็มขัด หรือว่าพับลง หรือจะใส่สูงๆ แบบนั้นก็ได้” 

นักออกแบบของเราเล่าถึงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างสรรค์เสื้อผ้าผ่านความคิดแบบครีเอทีฟของเขา แต่ไม่ว่าจะสร้างสรรค์ไปได้ไกลแค่ไหน ครีเอทีฟที่มีจุดเด่นทางความคิดคนนี้ก็ยังคงจับเป้าหมายได้แม่นมั่นในการตอบสนองความต้องการลูกค้าหลักของเขา “อย่างงานที่ว่า ถึงผมจะบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของ LGBT แต่งานนี้โดยหลักๆ เรายังคงตั้งใจทำเสื้อให้ผู้ชายเหมือนเดิมครับ เราทำเสื้อผ้าผู้ชายเพียงแต่หนนี้เราพยายามสื่อถึงความหลากหลายที่มันมีอยู่ในสังคมอะไรแบบนี้มากกว่า เราแค่พูดและทำออกมาเป็นเสื้อผ้า” 


ใครที่ชอบเสื้อผ้าที่มีความแคชวลแต่แฝงไว้ด้วยตัวตนของดีไซเนอร์ แวะมาที่ Leisure Projects ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์ และบางทีเราอาจจะได้พูดคุยกับคุณนัทถึงอินสไปเรชั่นที่ทำให้เกิดเป็นแฟชั่นไอเท็มชิ้นที่เราลองสวมอยู่ก็เป็นได้